วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

การบริหารจัดการด้านการตลาด (3)


4. การส่งเสริมการตลาด (PROMOTION)   คือกิจกรรมพิเศษที่ถูกสร้างสรรขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้รู้จัก และมีความต้องการในสินค้ามากยิ่งขึ้น รูปแบบการส่งเสริมการตลาด   มีหลายวิธีการ สามารถเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือจะผสมผสานหลายวิธีเข้าด้วยกัน       เป็นส่วนประสมของการส่งเสริมการตลาด  (PROMOTION MIX)  ก็ได้ 
ปัจจุบัน  มีวิธีส่งเสริมการตลาดอยู่ด้วยกัน  4  วิธีการ  คือ
1.       การส่งเสริมการตลาดแบบเผชิญหน้า (FACE TO FACE)
คือการนำเสนอข้อมูลสินค้า หรือรายการพิเศษโดยตรง ระหว่างพนักงานขายกับลูกค้า วิธีการนี้เป็นวิธีดีที่สุด เพราะสามารถแก้ข้อโต้แย้ง และทราบถึงการตอบรับของลูกค้าได้ทันที
2.       การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (SALES PROMOTION)
คือการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อกระตุ้นหรือสร้างความต้องการของลูกค้า เพื่อแนะนำ สินค้าใหม่ หรือเพิ่มยอดจำหน่ายของสินค้า อาทิเช่น การแจกตัวอย่างสินค้า คูปอง ของแถม  การใช้แสตมป์เพื่อแลกสินค้า  หรือการชิงโชคแจกรางวัล  เป็นต้น
3.       การโฆษณา (ADVERTISING)
คือการใช้สื่อในการนำเสนอหรือช่วยในการขาย ได้แก่ การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เหมาะสำหรับ   สินค้าที่ต้องการกระจายตลาดกว้าง
4.       การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ (PUBLICITY AND PUBLIC RELATION)
จะคล้ายการโฆษณา ต่างกันตรงที่ การโฆษณาจะเน้นเรื่องการเพิ่มยอดขายสินค้า  แต่การประชาสัมพันธ์ จะเน้นถึงการสร้างภาพพจน์ของกิจการ ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นที่การแสวงหากำไร (MAXIMIZE PROFIT) เพียงอย่างเดียว จะต้องเน้นถึงการให้บริการแก่สังคม  (SOCIAL OBJECTIVE) ด้วย จึงจะเป็นที่ยอมรับแก่ผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภค จะให้การสนับสนุน หรือต่อต้าน ไม่ใช่ที่คุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว ถ้าสินค้าดี แต่เอาเปรียบสังคม ก็อาจเกิดการต่อต้าน ทำให้ธุรกิจเสียหายได้ การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของร้าน จึงมีส่วนช่วยสนับสนุน หรือ   ส่งเสริมการขายสินค้าด้วยเช่นกัน ซึ่งการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ง่าย การเชิญ  ผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือในสังคมมาทำพิธีเปิด หรือการแจกข่าวความเคลื่อนไหวของบริษัทไปตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เป็นต้น  เป็นการใช้วิธีการสื่อสารในการส่งเสริมการตลาด (COMMUNICATION)
       
สำหรับร้านขายยา จะใช้การส่งเสริมการตลาดทั้ง 4 วิธีการประสมเข้าด้วยกัน   โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง
1.       ช่วงก่อนเปิดร้าน  สามารถประชาสัมพันธ์ธุรกิจร้านขายยา ได้หลายวิธีการ  อาทิเช่น
-          การติดป้ายผ้า หรือขึ้นป้ายหน้าร้าน ก่อนเปิดร้าน ประมาณ 1 เดือน        อย่างน้อยก็ช่วยให้ลูกค้าที่สัญจรผ่านบริเวณทำเลที่ตั้งร้าน
-          การแจกใบปลิว เพื่อประชาสัมพันธ์ทำเลที่ตั้งร้าน ลักษณะธุรกิจของร้านยา ให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัย  บริเวณโดยรอบทำเล  เป็นต้น
-          การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ  อาทิ  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  รถกระจายเสียง
-          การแจกการ์ดเชิญแขก  และลูกค้า  ร่วมงานวันเปิดร้าน  เป็นต้น
2.       วันเปิดร้าน สามารถจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์การเปิดร้าน ได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น
-          การเชิญแขกผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสังคม มาเป็นประธานในพิธีเปิด เพื่อสร้างภาพพจน์ และเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้คนทั่วไปได้รู้จักร้าน โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่อาศัยใกล้เคียงร้าน
-          การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายพิเศษ  เพื่อ PROMOTE ร้าน และสินค้า   เช่น การตรวจวัดความดัน การตรวจน้ำตาล - ไขมันในเลือด การจัดรายการ ลด แลก แจก แถม สินค้าพิเศษ หรืออาจจะจัดให้มีการประกวดแข่งขันการตอบปัญหา การวาดรูปเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับเด็กๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกิจกรรม เพิ่มโอกาสการขายได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ วันเปิดร้าน  จะต้องทำให้ลูกค้าได้มีโอกาสมารู้จักร้านให้มากที่สุด
3.  กิจกรรมต่อเนื่องหลังเปิดร้าน   ได้แก่
-          การแจกข่าวให้ผู้สื่อข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์การเปิดร้าน
-          การจัดรายการสะสมยอดซื้อแลกของรางวัล หรือการจัดรายการส่งเสริม   การขายพิเศษต่างๆ โดยอาจจะพิมพ์เป็น BROCHURE แจกลูกค้าเป็น     รายเดือน  เป็นต้น
-          การจัดให้มีระบบสมาชิก โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ลูกค้าที่มีบัตรสมาชิกหรือการจัดส่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ แนะนำสินค้าใหม่ หรือสินค้ารายการพิเศษ แก่สมาชิกราย 2 เดือน เป็นการช่วยสร้างฐานสมาชิก           ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการทางด้านการตลาดมีความสำคัญต่อธุรกิจมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งการแข่งขัน ผู้ใดมีความสามารถในการทำการตลาดได้ดีกว่า หรือเหนือกว่า ย่อมครอบครองส่วนแบ่งของตลาดได้มากกว่า การทำการตลาดมิใช่ว่าจะต้องใช้เงินทุนสูงๆ แล้วจะได้ประสิทธิภาพเสมอไป กิจการบางอย่างใช้งบโฆษณาสูงมาก แต่วางแผนโฆษณา  ไม่เข้าถึงผู้บริโภค หรือไม่ได้เตรียมความพร้อมภายในองค์กรรองรับ ก็เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป ดังนั้นการจัดการทางด้านการตลาดจะต้องพิจารณาปัจจัยองค์ประกอบให้ครบขบวนการ  จึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
ธุรกิจร้านยา จะประสบความสำเร็จได้  เจ้าของร้านต้อง ทุ่มเท เอาใจใส่ ในขณะเดียวกันการเก็บข้อมูล ปัญหา การวิเคราะห์ผลประกอบการอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราสามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง  ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทางด้านการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจ  เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน จะต้องติดตามความเคลื่อนไหว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การแข่งขันทางการตลาด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา   ธุรกิจที่อยู่กับที่ คือธุรกิจที่ถอยหลัง ธุรกิจใดปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ก็สามารถอยู่รอดหรือเติบโตได้อย่างมั่นคง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More